Saturday, August 2, 2014

สมุนไพรไทยบำรุงร่างกายเพศชาย

      ปัญหาเรื่อง นกเขาไม่ขัน สำหรับชายไทยจากการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของสมรรถภาพทางเพศ กลับพบว่าชายไทยที่อายุ 35 ปีขึ้นไป มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศถึง 42 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มชายที่ประสบปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จึงพยายามหาวิธีแก้ไขกันทั้งนั้น หลายคนไปพึ่งยา ‘ไวอะกร้า’ เพื่อช่วยให้อวัยวะของตนแข็งขันชูชันผงาดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง  ยิ่งตอนนี้มีขององค์การเภสัชได้ผลิตมาจ่ายตามใบสั่งแพทย์ เพื่อเหลือชายไทยในกลุ่มนี้
  
       แต่ปัญหาในเรื่องนี้ มิใช่มีเพียงภูมิปัญญาตะวันตกเท่านั้น ที่สนใจศึกษา หากแต่ทางฝั่งตะวันออกก็มีหนทางเยียวยาอยู่เช่นกัน
  
       เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการค้นพบตัวยาในเมล็ดหมามุ่ยซึ่งมีส่วนช่วยส่ง เสริมสมรรถภาพทางเพศของทั้งหญิงและชาย และต่อมาก็มีข่าวคราวความสำเร็จของการวิจัยโดยศูนย์วิจัยนวัตกรรม ซีไออาร์ดี (C.I.R.D. : CAPP Innovation Research and Development Center) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรทางการค้า ทำงานด้านพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสมุนไพรตะวันออก ออกมาให้สมาคมนกเขาคอตกได้ดีใจ
  
       โดยผลการวิจัยของซีไออาร์ดี นั้นระบุว่า สมุนไพรตะวันออกนั้นสามารถช่วยรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้จริง ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ หากแต่มันได้ผ่านการวิจัยกับคนจริงๆ มาแล้ว

  
       
       การวิจัยที่ว่านี้ ศูนย์วิจัยนวัตกรรม ซีไออาร์ดี ได้นำเอาสมุนไพรหลายชนิดอาทิ เขากวางอ่อน, สอเอี้ยง, อิมเอี้ยคัก, เม็ดเก๋ากี้, ปาเก็กเทียน, เก้ากุ๊กเฮี้ยง, เน็กฉ่งยัง ฯลฯ มาใช้เป็นตัวยาซึ่งทั้งหมดเป็นสมุนไพรที่การแพทย์แผนตะวันออกคุ้นเคยกันดี อยู่แล้ว
  
       “ในการวิจัยเรานำเอาสมุนไพรกว่า 10 ชนิดมาใช้ คือมันต้องใช้ร่วมกันหลายๆ อย่างจึงจะเห็นผล มันเป็นสิ่งที่เราเรียกว่ายาตำรับ คือในเบื้องต้นนั้นเรามีความตั้งใจเอายาเหล่านี้มาทำให้เป็นวิทยาศาสตร์มาก ขึ้น เอาตัวยาทางตะวันออกที่มี มาทำให้เป็นศาสตร์แบบแผนตะวันตก ทำวิจัยให้มันถูกต้อง
  
       “ที่ผ่านมา เราก็มีข้อมูลสนับสนุน เพราะสมุนไพรเหล่านี้ในต่างประเทศมีคนทดสอบ ทดลองแล้วว่า หลายๆ ตัวมีส่วนประกอบที่ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศได้จริง แต่ทั้งนี้โดยส่วนมากในต่างประเทศจะเป็นเอกสารทางสารทดลองที่อยู่ในห้องแล็บ มากกว่า เมื่อเราได้เอกสารตัวนี้มายืนยัน เราก็ตั้งการวิจัย โดยตั้งสมมติฐานมาเปรียบเทียบ โดยตั้งกลุ่มขึ้น 2 กลุ่ม ซึ่งแบบนี้เรียกว่า ดับเบิล บลาย ทู พีเรียด ครอสโอเวอร์ (double blind two period crossover)”
    
       นพ.สรรชัย วิโรจน์แสงทอง ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนวัตกรรม ซีไออาร์ดี ได้อธิบายถึงกระบวนการวิจัยในครั้งนี้ว่าเป็นการนำเอากลุ่มตัวอย่างมา 60 คน และแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะให้ยาจริงก่อน แล้วหยุดพัก หลังจากนั้นก็ให้ทานยาหลอก อีกกลุ่มหนึ่งก็ทำเช่นเดียวกันแต่จะให้ยาหลอกก่อน สลับกันไป จากนั้นก็จะมีการให้กลุ่มผู้ทดลองตอบแบบสอบถามเรื่องความพึงพอใจทางเพศ เป็นตัววัดคะแนน
  
       “ตัววัดคะแนนตัวนี้เป็นชุดคำถามสากลที่นิยมใช้วัดระดับในเรื่องนี้ คือเมื่อกินยาตัวนี้เข้าไปแล้วก็ต้องไปมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งแต่ความถี่แล้วแต่เขา จากนั้นก็มาวัดผล และที่เราต้องวัดเป็นความพึงพอใจนั้น ก็เพราะเป็นเรื่องง่ายกว่า การวัดจากความแข็งตัวของอวัยวะเพศ ซึ่งตรงนี้คงไม่มีใครให้เราวัด”
  
       จากการวิจัยระยะยาวที่ผ่านมา ผลลัพธ์ที่ออกมาก็สรุปได้ว่า ยาเหล่านี้มันใช้ได้ผลจริงๆ และในอีกไม่นาน ผลการวิจัยชิ้นนี้คงจะขยายผลออกมาเป็นยาที่จะช่วยรักษาคนที่ประสบปัญหานกเขา ไม่ขัน

  
       สนุนไพรมีคุณค่าแต่อาจไม่คุ้มค่าการวิจัย
       แม้ว่ายาสมุนไพรตะวันออกจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มันสามารถรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้จริง แต่กระนั้นมันก็ยังเป็นการรักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป และใช้เวลานาน ซึ่งต่างกับยาไวอะกร้า ซึ่งมาจากโลกตะวันตกที่เห็นผลทันตาชนิดที่เรียกได้ว่า ‘กินปุ๊บแข็งปั๊บ’ แล้วแบบนี้สมุนไพรตะวันออกจะไปสู้เขาได้อย่างไร
  
       “แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องยาของคนฝั่งตะวันออก อย่างไทย จีนหรืออินเดีย กับฝั่งตะวันตกนั้นไม่เหมือนกัน อย่างฝั่งตะวันตกจะมองว่า การบำรุงสมรรถภาพทางเพศ ก็คือบำรุงอวัยวะใด อวัยวะหนึ่ง แต่คนตะวันออกไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะเขาคิดว่าร่างกายต้องสมบูรณ์แข็งแรงก่อน อวัยวะที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์จึงจะแข็งแรงไปด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่วิจัยเกี่ยวกับยาที่คนโบราณบอกว่าเป็นยากำลังทั้งหลาย จึงไม่ได้ออกฤทธิ์ตรงที่อวัยวะเพศอย่างเดียว แต่มันยังทำให้ทั้งร่างกายดีขึ้นด้วย”
  
       ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อธิบายความแตกต่างระหว่างแนวคิดระหว่างศาสตร์การแพทย์ของ 2 ฝั่งทวีป และนั่นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยาสมุนไพรของไทย ถึงไม่ได้เด่นชัดในเรื่องการเสริมกำลังตรงนี้มากเท่าที่ควร แม้จะมีพืชบางชนิดที่มีออกฤทธิ์หรือส่งผลดีทางด้านสมรรถภาพทางเพศก็ตาม
  
       “จริงๆ แล้วความคิดแบบตะวันตกอาจจะไม่ถูกทั้งหมด เพราะหน้าที่ของมนุษย์ก็คือการสืบพันธุ์ หรือมีลูก แต่ยาฝรั่งไม่ได้ช่วยตรงนี้ แค่ทำให้อวัยวะทำงานได้ มีการตื่นตัว ซึ่งถามว่าจำเป็นไหม ก็คงจำเป็น แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์ของการเป็นมนุษย์ แต่ยาสมุนไพรมันไม่ได้ช่วยแค่การสืบพันธุ์เท่านั้น แต่ยังช่วยในเรื่องทำให้ร่างกายแข็งแรงด้วย ที่เห็นชัดๆ ก็คือ หมามุ่ย ซึ่งไม่ช่วยแค่การบำรุงร่างกาย แต่มันยังทำให้มีลูกง่ายขึ้นด้วย เพราะมันจะไปช่วยเพิ่มคุณภาพของน้ำเชื้อ และการทำงานของสเปิร์ม”
  
       อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสมุนไพรให้มีผลในทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น การพัฒนาหมามุ่ยหรือสมุนไพรอื่นๆ ให้เป็นยาที่แข่งกับยาฝรั่งเช่น ไวอะกร้านั้น ภญ.ผกากรอง ก็มองว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ในฐานะของที่ทำงานด้านนี้ กลับมองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะนอกจากจะต้องใช้งบประมาณนับล้านบาท สำหรับการทำเรื่องนี้แล้ว ที่สำคัญอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ต่อเรื่องสุขภาพเท่าใดนัก
  
       “ถ้าเราพูดเรื่องจำนวนของคนที่ไร้สมรรถภาพทางเพศไม่ได้มีเยอะเท่าใดนัก เป็นเพียงความกังวลของคนเท่านั้นเอง ถึงต้องหายาอะไรมากินกัน ดังนั้นถ้าจะพัฒนายาตัวหนึ่งขึ้นมาคงต้องตอบโจทย์เรื่องนี้ให้มาก เพราะการทำยาตัวหนึ่งไม่ได้เสียเงิน 100-200 บาทแต่เสียหลายล้านบาท แต่ทำมาแล้วมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือผลกระทบได้สักเท่าไหร่ แน่นอนทางฝ่ายเอกชนก็อาจจะคิดว่ามันน่าจะตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ยิ่งเราสกัดสารให้มีความบริสุทธิ์มากขึ้นเท่าใด โอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงได้มากขึ้นเท่านั้น
  
       “เพราะสมุนไพรไม่ได้ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ มีผลข้างเคียง แต่มันยังน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน เพราะความเข้มข้นในการเป็นยาของมันไม่ได้สูงมาก สังเกตดูก็ได้ว่า เวลากินสมุนไพรถึงต้องกินหลายเม็ดกว่าแผนปัจจุบัน ซึ่งวิธีแก้ผลข้างเคียงก็คือหยุดยา แล้วส่วนใหญ่ก็จะกลับมาเป็นปกติ”

  
       คือทางเลือกและความหวัง  
       แม้ว่าการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วยสมุนไพรตะวันออกจะอยู่ในระยะ ตั้งไข่ แต่สำหรับคนที่มีปัญหา เชื่อได้เลยว่าแม้จะยาวนานแค่ไหน มันก็ยังคงเป็นความหวังที่คุ้มค่ากับการรอคอย
  
       “ยอมรับเลยว่าด้วยอายุที่มากขึ้น ทำให้สมรรถภาพในเรื่องนั้นของเราลดลงจริง เมื่อก่อนสมัยหนุ่มๆ ก็เป็นเหมือนปกติทั่วไป คือร่างกายกับจิตใจมันไปด้วยกันน่ะ แต่ตอนนี้พออายุใกล้จะถึงหลัก 4 จิตใจเรา เราว่าเหมือนเดิมนะ แต่ร่างกายนี่ชักจะไม่เป็นเหมือนเดิมแล้ว”
  
       ศักดิ์ชาย (ขอสงวนนามสกุล) หนุ่มใหญ่วัย 38 ปี เล่าให้เราฟังถึงสภาวะที่ร่างกายถดถอย ทั้งที่ใจยังสู้อยู่
  
       “ผมแต่งงานมีลูกแล้ว 1 คน แสดงว่าก็ยังพอมีน้ำยาอยู่บ้างนะ (หัวเราะ) แต่มาหลังๆ นี้ สังเกตได้ว่ามันชักจะไม่ค่อยสู้แล้ว คือไม่ใช่ว่านกเขาไม่ขันเสียทีเดียว ก็ขันอยู่ แต่ไม่ขันแข็งเหมือนเมื่อก่อน ตอนแรกเราก็คิดว่าคงเป็นเพราะหน้าที่การงานที่เครียดมากขึ้น เพราะมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบดูแล ก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่หนักเข้าสมรรถภาพทางเพศก็เสื่อมถอยลงอย่างเห็นได้ชัด พูดอย่างไม่อายเลยว่า กว่าที่แข็งตัวนี่จะช้ามากทั้งๆ ที่เราก็รู้สึกมีอารมณ์ แล้วพอมันแข็งก็แข็งไม่มากเท่าตอนหนุ่มๆ แต่ก็ยังพอใช้งานได้ ต่อมาก็ได้ไปตรวจสุขภาพประจำปีก็พบว่าน้ำตาลในเลือดสูง มีความเสี่ยงมากที่จะเป็นเบาหวาน ซึ่งผมก็มาศึกษาต่อเองว่าภาวะการเป็นเบาหวานนั้น ส่งผลต่อการแข็งตัวขององคชาตด้วย ทีนี้ก็เลยถึงบางอ้อเลยว่าทำไม่ไม่ฟิตเหมือนเมื่อก่อน”
  
       ตอนแรกๆ ศักดิ์ชายยังไม่ได้คิดว่าอาการนกเขาแข็งตัวไม่เต็มที่นั้นเป็นปัญหา แต่พอเวลาผ่านไป เขาก็รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะอาการตื่นช้าและไม่แข็งตัวมันหนักข้อขึ้นทุกวัน
  
       “หลังๆ มาผมศึกษาเรื่องวิธีการรักษามาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีธรรมชาติอย่างออกกำลังกาย ลดเหล้าบุหรี่ หรือจะเป็นการใช้ยาอย่างไวอะกร้า ก็คิดอยู่ว่าจะเอามาลองใช้หลายครั้งแล้ว แต่ตอนนี้ผมเป็นโรคความดันด้วย ทำให้ยังไม่กล้าลองใช้ เพราะไวอะกร้ามันเป็นยาขยายหลอดเลือด ผมก็เลยกลัวว่ามันจะมีผลกับคนเป็นความดันอย่างผมหรือเปล่า”
  
       แต่เมื่อเขารู้ข่าวของการใช้สมุนไพรตะวันออกในการรักษาอาการนกเขาไม่ขัน ศักดิ์ชัยก็แสดงความเห็นว่ามันเป็นทางเลือกที่ดีและถ้ามีโอกาสก็จะลองใช้
  
       “มันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนะ เพราะผมเข้าใจว่าพวกสมุนไพรมันไม่น่าจะมีผลข้างเคียงร้ายแรงเท่ายาเคมี ถ้ามันมีการวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวแล้วได้ผล ผมก็ว่าจะลองใช้ดูก่อน จริงอยู่ที่มันไม่ใช่การรักษาที่ตรงจุดเสียทีเดียว แต่มันก็ดีกว่าการไปเสี่ยงใช้ยาที่มีผลข้างเคียงอันตรายอย่างไวอะกร้านะ”
  
       นั่นเป็นทรรศนะของคนมีปัญหาที่เฝ้ารอการรักษาอย่างมีความหวัง ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ เราจะพบว่าตัวยาสมุนไพรที่นำมาใช้นั้น มีหลายอย่างที่คนในบ้านเราเอามาประกอบอาหารในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว จึงน่าสงสัยว่า เมื่อคนทั่วไปรู้ว่าของเหล่านี้มันมีสรรพคุณทางยา รักษาอาการนกเขาไม่ขันได้เขาจะหันมาบริโภคมันมากขึ้นหรือไม่
  
       “คงไม่ได้เสาะหามากินมากกว่าแต่ก่อนหรอก คงกินมันเท่าเดิมนั่นแหละโดยส่วนตัวไม่ได้มีปัญหากับเรื่องนี้อยู่แล้ว” สรัญวุฒิ ศรีวารีกุล หนุ่มใหญ่วัย 30 กล่าวถึงสมุนไพรเหล่านี้ในฐานะอาหาร ซึ่งเขายังบอกต่อไปอีกว่าถึงแม้เขาจะมีปัญหาในเรื่องอย่างว่าขึ้นมาในวัน หนึ่ง เขาก็คงไม่กินสมุนไพรเหล่านี้ในฐานะของอาหารบำรุงแน่นนอน
  
       “ถ้าเกิดป่วยขึ้นมาจริงๆ ก็ไปหาหมอดีกว่า คงไม่กินอาหารรักษาเองหรอก น่าจะกินยาไปเลย แต่จะเป็นยาไทยหรือยาฝรั่งก็ต้องดูกันอีกทีว่าอันไหนมันดีกว่ากัน”
  
  
       คำกล่าวที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นแมวสีไหน ขอให้สามารถจับหนูได้เป็นพอ นั้นเป็นคำกล่าวที่สมเหตุสมผล ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นยาสมุนไพรตะวันออก หรือยาเคมีจากตะวันตก หากมันช่วยรักษาความป่วยไข้ได้เหมือนกันก็คงจะไม่ต้องมาเถียงกันว่าอะไรดี กว่าอะไร
  
        แต่ถ้าหากจะมองถึงเรื่องอื่นๆ ที่ลึกลงไปกว่าการรักษาโรคให้หาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลข้างเคียง เรื่องของจิตใจ มันย่อมมีอะไรๆ ให้พิจารณากันอีกไม่น้อย ถึงตอนนั้น ผู้ใช้ก็คงจะเลือกเองได้ว่าจะยืนอยู่ทางฝั่งไหนของโลกดี.



ข้อมูลจาก : ผู้จัดการ วันจันทร์ ที่ 5 กันยายน 2554

No comments:

Post a Comment