กำราบ ‘ความดันโลหิตสูง’
ความดันโลหิตสูงเป็น 1 ในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยแต่ละปีมีประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะนี้มากถึงเกือบ 8 ล้านคน ที่สำคัญคน ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่ามีอันตรายเกิดขึ้นในร่างกายของตัวเอง เพราะโรคนี้แทบจะไม่ปรากฏสัญญาณเตือนใดๆ จนนานวันเข้ากลายเป็นสาเหตุเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ตามมาอย่างที่หลายคนนึกไม่ถึง สถิติจากมิเตอร์ประเทศไทย ของมหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปี 2556 คนไทยเสียชีวิตแล้วด้วย โรคหัวใจรวม 25,959 คน โรคหัวใจขาดเลือด 26,197 คน โรคหลอดเลือดในสมองแตก 20,005 คน โรคเบาหวาน 20,005 คน ซึ่งโรคเหล่านี้ล้วนเกี่ยวเนื่องมาจากความดันโลหิตที่สูงขึ้นทั้งสิ้น
โรคความดันโลหิตสูงว่า “มีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป จัดอยู่ในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด และถือเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลเสียต่อร่างกายโดยตรง หากทิ้งไว้นานโดยไม่ได้ใส่ใจเข้ารับการดูแลรักษา ก็อาจนำไปสู่โรคหรือภาวะแทรกซ้อนน่ากลัวกับอวัยวะสำคัญตามมา อาทิ โรคหลอดเลือดในสมองตีบหรือแตกทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หัวใจโต หัวใจเต้นผิดจังหวะ จอประสาทตาเสื่อมทำให้การมองเห็นลดลงหรือถึงขั้นตาบอด ไตวายเรื้อรัง โรคเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ เช่น ไต แขนขา ตีบหรืออุดตัน เป็นต้น”
สาเหตุของความดันโลหิตสูง แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
กลุ่มที่ 1 เป็นผลจากภาวะโรคใดโรคหนึ่งหรือเรียกว่าความดันโลหิตสูงทุติยภูมิ เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไตวายเรื้อรัง เนื้องอกของต่อมหมวกไต เป็นต้น แนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ รักษาที่ภาวะโรคที่เป็นต้นเหตุ
กลุ่มที่ 2 เรียกว่าความดันโลหิตสูงปฐมภูมิ มักเป็นผลจากพันธุกรรม ความอ้วน อายุที่เพิ่มขึ้น นิสัยการกินเค็ม การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ความเครียด ร่วมกับผลจากความไม่สมดุลระหว่างระบบประสาทอัตโนมัติและฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ ควบคุมการหดตัวหรือขยายของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย ซึ่งเป็นวงจรที่เกี่ยวเนื่องกันโดยตรงระหว่างการสั่งการจากสมอง ประสาทไขสันหลัง และหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไต ซึ่งความดันโลหิตสูงปฐมภูมินั้นไม่มีทางรักษาหายขาด ต่างจากแบบทุติยภูมิที่เมื่อรักษาโรคต้นตอแล้ว ภาวะความดันโลหิตสูงก็จะบรรเทาไปเอง
การหมั่นตรวจสุขภาพ ดูแลรักษาร่างกาย พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเพื่อลดความ เสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน โดยทั่วไปการรักษาจะแตกต่างกันไปในแต่ละราย หากไม่ร้ายแรงอาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เช่น ลดกินเค็ม ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย เลิกสูบบุหรี่ ไปจนถึงการกินยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต แต่สำหรับบางรายที่แม้จะพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเต็มที่แล้ว และรับประทานยาที่มากทั้งชนิดและปริมาณแล้วก็ยังไม่ช่วยอะไร ความดันโลหิตยังมีค่าเกินกว่า 160 มิลลิเมตรปรอท ถ้ามีอายุน้อยกว่า 80 ปี มักแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการจี้ไฟฟ้าที่ระบบประสาทอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า Renal Denervation Therapy วิธีนี้เป็นการใช้ความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุ จี้ทำลายร่างแหเส้นประสาทอัตโนมัติที่อยู่ในผนังหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไต ทั้งสองข้าง โดยใช้อุปกรณ์พิเศษสอดผ่านหลอดเลือดจากขาหนีบย้อนขึ้นไปถึงหลอดเลือดแดงที่ ไปเลี้ยงไต ซึ่งเป็นแขนงของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง มีข้อดีคือใช้เวลารักษาเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นพักฟื้นและดูอาการอีกประมาณ 6 ชั่วโมง และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน
วิธีการรักษาเหล่านี้เป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น สุขภาพแข็งแรงควรเริ่มต้นที่การป้องกันรู้จักดูแลตัวเองด้วยการนำสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
No comments:
Post a Comment